วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

The Rake’s Progress by Stravinsky

เมื่อพูดถึงชื่อ Stravinsky หลายคนคงคุ้นเคยกับงานดังๆอย่าง The rite of spring, The Firebird หรือ Petrushka ซะมากกว่า แต่วันนี้นึกครึ้มอยากสรรหาผลงานแปลกๆ มาให้ฟังกันแก้เลี่ยนเล่นๆ เลยมาตกที่งานโอเปร่าเรื่อง Rake’s progress งานสำเนียงแปลกๆ สไตล์ classic ผสม modern ในแบบของ Stravinsky


The Rake’s progress เป็นงานโอเปร่า 3 องค์ ของ Stravinsky งานชิ้นนี้ได้ W. H. Auden และ Chester Kallman นักแต่งกลอนคู่ขวัญชาวอเมริกันชื่อดังแห่งยุค ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้แต่งเนื้อร้องให้กับบทเพลงของคีตกวีดังๆในยุคนั้นหลายคน ทั้ง Britten , Henze , Nabokov


โดยผลงานชิ้นนี้ Stravinsky ได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งจากภาพเขียนของ William Hogarth จิตรกรชาวอังกฤษ ภาพเขียนชุด A Rake's Progress นี้ถูกเขียนขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ. 1733–1735 มีจำนวนทั้งหมด 8 ภาพ ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ Soane Museum ณ กรุง London ประเทศอังกฤษ






เนื้อเรื่องโดยคร่าวๆ เกี่ยวกับ ชีวิตอันเหลวแหลกของ ชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า Tom Rakewell โดยมีเรื่องย่อดังนี้

Act 1

Anne พยายามชักจูงให้ Tom คนรักของเธอ หางานทำให้เป็นหลักเป็นฐาน แต่ Tom กลับปฏิเสธ และตัดสินใจเดินทางไปเสี่ยงโชคในกรุงลอนดอน Tom ทรยศคนรักของตนเอง โดยรับข้อเสนอ ยอมนอนกับแม่ม่ายผู้หนึ่ง 1 คืน ทางฝ่าย Anne เมื่อเห็น Tom ขาดการติดต่อ ก็เป็นห่วง จึงเดินทางไปหายังลอนดอน



ใน Act นี้มีบท Aria ของ Anne ที่มีชื่อเสียง คือ “ No word from Tom”
ในคลิปนี้มี 4 เพลงต่อกันเลย คือ

No Word From Tom
Quietly, Night
My Father Can I Desert Him
I Go, I Go To Him





Act 2

Tom เริ่มเบื่อชีวิตของเขา Nick คนรับใช้จึงเสนอให้ Tom แต่งงานกับ Baba the Turk หญิงที่มีชื่อเสียง แต่น่าเกลียดเพราะมีหนวดขึ้นที่หน้า

ต่อมา Anna ตามหา Tom จนเจอะ แต่ก็พบว่าเขาแต่งงานแล้ว Tom ยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วไล่เธอไป แต่ไม่นาน Tom ก็เริ่มทนภรรยาของตนเองไม่ได้ จึงมีปากเสียงกัน Baba แล้วแยกย้ายกันเข้านอน

เมื่อตื่นมา Tom พบว่า Nick เอาเครื่องมือวิเศษชิ้นหนึ่ง ซึ่งสามารถเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นขนมปังได้มาแสดงให้ดู Tom ตื่นเต้นมาก และตัดสินใจลงทุนกับเครื่องมือนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนหลอก



บท Aria ของ BaBa สาวมีหนวด คนแสดงบทนี้ต้องใส่หนวดปลอมเอาไว้ที่คาง แต่พอร้องไปร้องมา หนวดมักจะตกลงมาที่คอ ดูคล้ายเป้นสร้อยคอไปซะงั้น



ฉาก present เครื่องมือวิเศษ



คลิปนี้ Tom ตลกดีมีการทดสอบกินขนมปังโชว์ด้วย



Act 3

แผนการทั้งหมดของ Tom ล้มเหลว ทรัพย์สินทั้งหมดของ Tom จึงถูกนำออกไปประมูล รวมทั้ง Baba ภรรยาของเขาด้วย Anne เข้ามายังที่ประมูล Baba จึงบอก Anne ว่า Tom ยังรักเธออยู่ และให้ช่วย Tom พร้อมกับเตือนให้ระวัง Nick

ที่ป่าช้า Nick ทวงวิญญาณของ Tom เป็น เงินค่าจ้าง และชวนให้เล่นไพ่ ถ้า Tom เลือกไพ่ได้ถูก เขาจะเป็นอิสระ Tom ชนะเกมส์นี้ด้วยความช่วยเหลือของ Anne แต่ Nick ก็สาปให้ Tom เป็นบ้า ก่อนจะกลับหายลงไปในหลุม
Tom กลายเป็นบ้า และคิดว่าตัวเองคือ Adonis ซึ่งกำลังรอคอย Venus ( ในที่นี้ Tom จิตนาการว่า Anne คือ Venus)

Tom ถูกนำตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลบ้า Anne ไปเยี่ยมและร้องเพลงกล่อมจนเขาหลับ แล้วจากไป เมื่อ Tom ตื่นขึ้นมาและพบว่า Venus ของเขาจากไปแล้ว เขาจึงอยู่ในความฝันว่าตนเองคือ Adonis ต่อไป........


ตามเรื่องเค้าแต่งให้เป็นป่าช้า แต่เวอร์ชั่นนี้สมัยใหม่สุดๆ ดัดแปลงเป็นห้องเก็บศพใน รพ.แทน




สำหรับภาพวาดและเรื่องราวดั้งเดิม ของ The rake's progress ของ William Hogarth หาอ่านดูได้ที่นี่ค่ะ

http://en.wikipedia.org/wiki/A_Rake%27s_Progress

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนังสือเพลงคลาสสิกที่น่าสนใจ

แนะนำหนังสือเพลงคลาสสิกที่น่าสนใจ

Music of Master


แต่งโดย สดับพิณ รัตนเรือง
reviewed by Vitamin_C

หากใครเป็นสมาชิกจุลสารของรายการดนตรีคลาสสิกของสถานีวิทยุจุฬาก็คงจะรู้จักหนังสือเล่มนี้ดี หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความและบทสัมภาษณ์ที่ อ.สดับพิณ รัตนเรือง ที่ได้เขียนไว้ในจุลสารในระหว่างปี พ.ศ.2538-2542 เนื้อหาในเล่มก็น่าสนใจและมีเรื่องหลากหลาย เริ่มต้นตั้งแต่บทปูพื้นการฟังเพลงคลาสสิก มีเกร็ดประวัติของคีตกวีหลายท่าน และมีบทสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิของวงการคลาสสิกในบ้านเราด้วย






อลังการอุปรากร

แต่งโดย สดับพิณ รัตนเรือง
reviewed by Vitamin_C

เนื้อหาภายในเป็นเรื่องย่อของโอเปร่า แบ่งตามแต่ละองค์ ซึ่งเขียนได้กระชับอ่านง่ายและสนุกมากๆ นอกจากนี้ ยังมีแนะนำเพลงเด่นของโอเปร่าเรื่องนั้นๆด้วย ตอนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เรียกว่าช่วยจุดประกายให้เริ่มหันมาฟังโอเปร่ามากขึ้นเลยค่ะ





เพลงเพลินใจ

แต่งโดย พิชัย วาสนาส่ง
reviewed by Vitamin_C

จริงๆ แล้วเล่มนี้หน้าปกเป็นสีขาวค่ะ แต่พอเวลาผ่านไปดันกลายเป็นสีเหลืองซะงั้น ซื้อไว้นานมากจนลืมไปแล้วว่าเค้าเขียนว่ายังไงบ้าง หลังจากรื้อออกมาครั้งนี้ ก็ว่าจะหาเวลามาอ่านซะหน่อย





เพลงรักคีตกวี

แปลโดย สันตสิริ
สำนักพิมพ์ฉับแกระ
reviewed by Vitamin_C

เล่มนี้จำไม่ได้ว่าซื้อมาตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แต่ว่านานมากเช่นกัน หนังสือ เล่มนี้แปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า The Private Lives of Great Composers เนื้อหาภายในเป็นชีวประวัติที่เน้นเรื่องความรักของcomposer หลายท่าน เนื้อเรื่องไม่ค่อยมีกล่าวถึงบทเพลงต่างๆเท่าไหร่ มีแต่เรื่องรักๆใคร่ๆ ทั้งหวานซึ้งกินใจ และเศร้าน้ำตาไหลพราก (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลังมากกว่า) อ่านแล้วอาจจะหลงนึกไปว่า อ๊ะ นี่เรากำลังนิยายน้ำเน่าอยู่หรือเปล่าเนี่ย โดยเฉพาะเรื่องของ Clara Schumann อ่านทีไรน้ำตาท่วมหมอนทุกที






สังคีตนิยม

แต่งโดย ณรุทธ์ สุทธจิตต์
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
reviewed by Vitamin_C

หน้า ปกบอกไว้ว่าพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 9 ในปี 2550 แต่เล่มที่เรามีเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 ค่ะ เล่มนี้จะออกแนวหนังสือเรียนวิชาการไปหน่อย แต่ก็อ่านไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ทางดนตรีมากนักก็อ่านรู้เรื่อง



ไวโอลินของไอน์สไตน์

โดย โจเซฟ อีเกอร์
สำนักพิมพ์มติชน
แปลโดย จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล
reviewed by Vitamin_C

เล่ม นี้พึ่งซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อปีหลายปีก่อน ชื่อบทในสารบัญ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่เห็นบางท่านที่อ่านจบแล้ว บอกว่าบทหลังๆพูดถึงฟิสิกซ์มากไปหน่อย อ่านแล้วอาจจะมึนได้ ส่วนตัวเองนั้นเลือกอ่านเป็นบางบทก่อน แต่รวมๆแล้วก็ยังไม่ไปถึงไหนเลยค่ะ ขอดองเอาไว้ก่อน





ดนตรีแห่งชีวิต

โดย สุรพงษ์ บุนนาค
สำนักพิมพ์ สารคดี
reviewed by Vitamin_C

หนังสือเกี่ยวกับเพลงคลาสสิกเล่มนี้เล่าถึงประวัติของคีตกวีหลายท่าน หลังจากเปิดผ่านๆ เลือกอ่านคีตกวีคนที่ตัวเองสนใจและชื่นชอบ ก็รู้สึกว่าทำไมชื่อเรื่องแต่ละบท และสำนวนมันคุ้นๆหว่า เหมือนเคยอ่านเจอะที่ไหนมานะ
เมื่อพลิกไปดูรายชื่อหนังสือประกอบการ เขียนที่ภาคผนวกก็ถึงบางอ้อ เพราะมีหนังสือ The Lives of the Great Composers แต่งโดย Harold C. Schonberg รวมอยู่ในรายชื่อนั้นด้วย เมื่อมาเปิดดูสารบัญเทียบกันเรียกว่าเหมือนกันแทบจะทุกประการ ส่วนเนื้อหาภายในก็มีสอดแทรกเพิ่มลดบ้าง แต่โดยรวมๆก็คล้ายกันมาก ดังนั้น ถ้าใครสนใจอ่านหนังสือฉบับอังกฤษเล่มนี้ แต่หาซื้อไม่ได้หรือขี้เกียจอ่านภาษาอังกฤษ ก็หยิบดนตรีแห่งชีวิตเล่มนี้มาอ่านแทนได้ อ่านสนุกและได้ใจความกระชับเลยค่ะ




คลาสสิกสามัญประจำบ้าน

แต่งโดย ดุสิต จรูญพงษ์ศักดิ์
สำนักพิมพ์เนชั่น
reviewed by ErShiYi

เล่มนี้ยังหาได้อยู่ในซีเอ็ดบางสาขา เป็นเรื่องราวแบ่งเป็นหลายส่วนเช่นนักดนตรีคลาสสิกรุ่นปัจจุบัน นักดนตรีคลาสสิกของไทย เป็นต้นครับ เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มฟังเพลงคลาสสิกมาซักพักแล้ว อยากได้ความรู้เพิ่มเติม






คัมภรีเพลงคลาสสิกครับ

reviewed by ErShiYi

เหมาะสำหรับมือใหม่และผู้ที่ต้องการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับยุคต่างๆของเพลง คลาสสิก ประวัติความเป็นมา และวิธีการไปชมคอนเสริต รวมถึงมารยาทต่างๆ





มาปันใจให้คลาสสิก

reviewed by ErShiYi

มีห้าเล่มครับ เคยคุยกับผู้แต่ง เห็นบอกว่าจริงๆเขียนเล่มหกได้มาหลายปีแล้ว แต่ไม่มีทุนพิมพ์เพราะพิมพ์ทีไรเจ๊งทุกทีครับ เหมาะสำหรับมือใหม่


บรรเลงรมณ์ 1 และ 2

แต่งโดย จิ๋ว บางซื่อ
reviewed by ErShiYi

ว่ากันว่าเป็นหนังสือเพลงคลาสสิกเล่มแรกๆของเมืองไทยเลยครับ เป็นหนังสือควรค่าที่จะมีไว้ในครอบครอง หลายปีก่อนต้องหาตามร้านมือสองเท่านั้นและหายากมากๆๆ แต่ปีก่อนผมไปเจอมติชนเอามาขายที่งานหนังสือครับ อย่าพลาดนะครับงานนี้



คีตนิพนธ์อมตะ

แต่งโดย ดร.สมนึก จันทรประทิน
reviewed by Genzo

ชอบตรงที่พูดถึง การบันทึก สื่อดนตรี Classic ระดับตำนานมากมาย ซึ่งเนื้อหาจะพูดถึงทั้ง Composer และ คนเล่นในผลงานแต่ละแผ่น CD และ DVD นั้นๆ แบบว่า หนังสือแนวชีวประวัติ Composer นี่มีกันค่อนข้าเยอะแล้วเลย ตามหาหนังสือแนวนี้อยู่ เคยเห็นรวมเล่มของ อ.วิจิตร แต่ก็ไม่ได้เป็น Classic เพียวๆ ถึงแม้ว่า จะมีแผ่นที่พูดถึงอยู่ไม่มากขนาดที่ใช้ Reference เวลาเลือกซื้อได้ แต่ก็จัดว่าหาหนังสือแนวนี้ที่เป็นภาษาไทยได้น้อยมาก



วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อคิดทางดนตรีดีๆจาก Horowitz(2)





Horowitz ย้ำนักหนาว่านักดนตรีทุกคนควรหาสไตล์ของตนเองให้เจอะ ไม่ใช่การเลียนแบบการเล่นที่ perfect จากคนเก่งๆ หรือจากอาจารณ์ของตนเอง

อย่าไปกังวลกับโน๊ตให้มากนัก การเล่น note ที่ perfect ไม่ได้หมายความว่าจะได้ดนตรีที่เยี่ยมยอด


“A few wrong notes are not a crime”
Horowitz กล่าวแล้วอ้างอิงจากคำพูดของ Toscanini พ่อตาของเค้า


“For false notes, no one was ever put in jail”

ถึงเล่นโน๊ตผิด ก็ไม่ติดคุกหรอก <---ถูกใจสุดๆ แต่นั่นไม่ได้หมายว่า เล่นผิดบ่อยๆแล้วมันจะดีหรอกนะจริงไหม


Horowitz ได้ให้ความเห็นในเรื่องการศึกษาบทเพลงจากแผ่นบันทึกเสียงว่า ในปัจจุบันมีหลายๆคนฝึกฝนเพลงจาก CD หรือ บันทึกการแสดง เค้าเหล่านั้นให้พยายามที่จะดีดและเลียนแบบเสียงให้เหมือนกับเสียงอันแสนจะ perfect ในบันทึกนั้นๆ แต่นั่นไม่ใช่การดีดเปียโนที่ดี เพราะเป็นการให้ความสนใจกับตัวโน๊ตมากจนเกินไป จนลืมไปว่าไหนหล่ะดนตรี? ไหนหล่ะการตีความ?


Horowitz ยกตัวอย่างกรณีนี้ในเรื่องของเค้ากับ Rachmaninoff

Horowitz เล่าว่า เค้าได้ตีความและดีด บทเพลง Piano Concerto no.3 ของ Rachmaninoff ไปในทิศทางอีกแบบนึงที่แตกต่างจากที่ตัว Rachmaninoff เล่นเอง โดยให้เหตุผลว่า เพราะตัวเค้าเองเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ในบทเพลงที่ Rachmaninoff ต้องการจะสื่อ และเข้าถึงบรรยากาศของรัสเซียในช่วงเวลานั้น ดังนั้น Horowitz จึงได้พยายามนำความรู้สึกเหล่านั้นมาใส่ในบทเพลง และผลปรากฏว่า Rachmaninoff เองก็เห็นด้วยกับการตีความของเค้า



เมื่อ Horowitz กล่าวถึงการสอนเปียโนของตนเอง
Horowitz เล่าว่า การสอนเปียโน ก็เปรียบเหมือนกับการเป็น conductor ที่กำกับวง orchestra ว่าต้องเล่นยังไง แต่ส่วนหนึ่งของการเรียนดนตรี คือการที่รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งในเรื่องนี้ Horowitz บอกว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยหล่ะ


“ people are taught how to be taught by someone else, but they are not taught how to be their own teacher”


แล้วยกตัวอย่างถึง conductor ของวง orchestra เค้าเหล่านั้น ไม่สามารถบอกนักคาริเน็ตได้ว่า ต้องเล่นคาริเน็ตยังไง แต่สิ่งที่ทำได้คือ คุยกับนักคาริเน็ต และบอกเค้าว่าต้องการอะไร


“ The secret is not to force your personality on your student”

Horowitz เล่าว่า เวลาสอน นร. น้อยครั้งมากๆที่เค้าจะเดินไปที่เปียโนแล้วบอก นร ว่า ให้เล่นแบบนั้นแบบนี้ เพราะนั่นคือการสอนที่ผิด นร. ต้องหัดที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง




และบทส่งท้ายในบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ที่ Horowitz เล่าถึงเส้นทางของการเป็นศิลปินฝากไว้ให้นักเปียโนรุ่นใหม่เก็บไปคิด โดยอ้างคำกล่าวของ George Szell

“ There’s a lot of piano playing, but not enough music making”

การเป็นศิลปิน ต้องรู้จักเริ่มอาชีพด้วยตนเอง ต้องแสดงให้เห็นว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง

Horowitz เล่าถึงตัวตัวเค้าเองว่า ในชิวิตนี้เค้าไม่เคยเข้าสู่การแข่งขันใดๆเลย และในคอนเสิร์ตแรกๆที่ออกแสดง ภายในห้องก็แทบจะว่างเปล่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนก็ค่อยๆมากขึ้นๆ จนกระทั่งล้น ซึ่ง Horowitz เองมองว่าความสำเร็จนี้มันดีกว่า ที่เมื่อคุณเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน และเป็นที่รู้จัก ผู้คนมากมายต่างคาดหวังกับการเล่นของคุณ แม้ว่านั่นก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นบรรไดก้าวสู่ความสำเร็จก็ตาม แต่แน่นอนว่ายังมีอีกทางหนึ่ง ซึ่งคือทางที่สามารถเป็นไปได้ ซึ่งก็คือทางที่ Horowitz เลือกนั่นเอง



ปล. บทความนี้คัดลอกบางส่วนที่ จขบ สนใจ จากหนังสือ Great Contemporary Pianists Speak For Themselves โดย Elyse March ใครสนใจลองหาฉบับเต็มมาอ่านนะคะ

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อคิดทางดนตรีดีๆจาก Horowitz(1)


"It is important for musician to learn as much about the composer as possible and to study the music he has written"

“Equally important is that the musician must immerse himself in the cultural period that produced the work he studies and play”

อย่าคิดว่ามันเป็นเพียงโน๊ตเปียโน การจะเข้าใจดนตรีอย่างถ่องแท้ ควรจะศึกษาถึง ภาพวาด บทกวี ลักษณะดนตรีรวมไปถึงการดำรงชีวิตและสังคมในสมัยนั้นๆด้วย

Horowitz เล่าว่า เคยมีเด็กหนุ่มคนนึงมาหาเค้า และเตรียมเพลง Rachmaninoff-Paganini Variation มาดีดให้ฟัง หลังจากเล่นเสร็จ Horowitz ถามเด็กหนุ่มว่าเคยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของ Rachmaninoff บ้างหรือไม่?
น่าแปลกใจ.....ทั้งๆที่เด็กคนนี้มีใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ปรากฏว่าเขากลับไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับ Rachmaninoff หรือ Paganini เลย แม้แต่บุคลิกลักษณะของ composer ซึ่ง Horowitz มองว่า นี่หล่ะคือนักเปียโนในปัจจุบันนี้......

(Horowitz เองสนิทมากๆกับ Rachmaninoff เป็นการส่วนตัวด้วย คิดเอาแล้วกันว่าลุงแกจะเดือดแค่ไหน เหอๆ)

Horowitz กล่าวว่าการเล่นของเด็กคนนี้ มีแนวโน้มออกไปทาง percussively หมายถึงเป็นลักษณะการเล่นแบบตอกๆเคาะๆรุนแรง ซึ่งเขากล่าว่า หากต้องไปฟังคอนเสิร์ตที่ผู้แสดงดีดแบบนี้ มีเพียง 2 สิ่งที่จะทำ คือ 1.กลับบ้าน 2.ไปนอน

ส่วนตัวแล้ว จขบ เคยอ่านเจอะมาว่า Horowitz เอง กล่าวว่าเขายินดีฟังเพลง Contemp เช่นเพลงของ Bartok หรือ Stravinsky เพื่อความสุนทรีย์ได้ แต่กลับปฏิเสธที่จะเล่น ด้วยเหตุผลที่ว่า มัน too percussive ดังนั้นถ้าใครมาเล่นเปียโนสไตล์แบบนี้ให้ฟัง ลุงแกคงไม่ปลื้มแน่ๆ
(อ๊ะ แต่นี่คนนั้นเค้ามาเล่น Rachmaninoff นินา ไม่รู้เหมือนกันว่าเล่นออกมาแนว percussive นี่จะเป็นแบบไหนนะ แต่ที่แน่ๆ ถ้าเด็กหนุ่มคนนั้นได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์นี้คงจะเสียใจแย่เลย)





“The most important thing is to make a percussive instrument to a singing instrument”

ครูเปียโนควรจะให้ความสำคัญในการสอนเรื่องนี้มากๆ แต่กลับมีครูน้อยคนที่จะสนใจสอนเรื่องนี้ และที่น้อยกว่าคือ นักเรียนที่จะเข้าใจ

Horowitz แนะว่า เขาทำเสียงให้ sing ออกมาได้ โดยการใช้ damper pedal บ่อยๆ เพียงแต่พวกเราไม่ได้ยิน ในระหว่างที่มีการเปลี่ยน chord หนึ่งไปอีก chord หนึ่ง เขาจะยังเหยียบ pedal ไว้ยาวพอ จนเกิดการ overlap ของ 2 harmony ในชั่วขณะ จนเกิด Legato pedal และได้เสียงที่ sing ไม่มีเครื่องดนตรีชนิดใดใน Orchestra ที่สามารถทำเช่นนี้ได้



“Never to imitate”
แปลแบบง่ายๆ ===>อย่า copy

“ Find out for yourself”

นักเปียโนทุกคนควรหาเทคนิค และสไตล์ที่เป็นของตนเอง Horowitz กล่าวพร้อมกับยกคำสอนของจีนขึ้นมา


“Do not seek to follow in the master’s foot step; seek what he sought”


“The great danger in listening to records is imitation”

อย่าฟังเพลงมากเกินไป เพราะเราจะ copy มันเองโดยธรรมชาติ

Horowitz ย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อถูกถามว่า เค้าเคยฟังผลงานของตัวเองบ้างหรือเปล่า

Horowitz ตอบว่า เขาไม่เคยฟังเพลงที่ตัวเองเล่นเลย โดยให้เหตุผลว่า แม้เขาจะเล่นเพลงนั้นเอง ก็ไม่อยากให้มันมีอิทธิพลต่อการเล่นในครั้งต่อๆไป นอกจากนี้ยังให้เหตุผลว่าการเล่นเปียโนในแต่ละครั้ง การตีความบทเพลงก็แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่า ในเพลงเดียวกัน จะเล่นเหมือนกันทุกครั้ง การตีความเพลงใหม่ๆ ทำให้เกิดความสดใหม่ และแตกต่างไม่ซ้ำซาก


นี่สินะ คือ ความลับของ Horowitzในการเล่น concert ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ



วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนังสือเกี่ยวกับ Beethoven ที่ให้อ่านฟรีใน gutenberg

รวมรายชื่อหนังสือเกี่ยวกับ บีโทเฟ่น ที่หมดลิขสิทธิแล้ว เปิดให้ download เป็น ebook อ่านได้ฟรีจาก gutenberg ค่ะ


1."Beethoven's Letters" by Ludwig van Beethoven
translated by Lady Wallace
Vol.1
http://www.gutenberg.org/ebooks/13065

Vol.2
http://www.gutenberg.org/ebooks/13272


2."Beethoven : the man and the artist, as revealed in his own words" by Ludwig van Beethoven
Edited by Friedrich Kerst and Henry Edward Krehbiel. This edition was translated into English and published in 1905 by B.W. Hubsch. It was also republished unabridged by Dover Publications, Inc., in a 1964 edition, ISBN 0-486-21261-0.
http://www.gutenberg.org/ebooks/3528
Audio book(mp3)
http://www.gutenberg.org/ebooks/6546

3."Beethoven" by George Alexander Fischer
http://www.gutenberg.org/ebooks/15141


ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านหนังสือนะคะ ^o^
Happy with books

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนังสือเกี่ยวกับ Chopin ที่ให้อ่านฟรีใน gutenberg

รวมรายชื่อหนังสือเกี่ยวกับ โชแปง ที่หมดลิขสิทธิแล้ว เปิดให้ download เป็น ebook อ่านได้ฟรีจาก gutenberg ค่ะ



1."Life of Chopin" by Franz Liszt
Translated from the French by Martha Walker Cook
http://www.gutenberg.org/ebooks/4386
Original French version
http://www.gutenberg.org/ebooks/21669

2."Frederick Chopin, as a man and Musician" by Frederick Niecks
http://www.gutenberg.org/ebooks/4973

3."Chopin : the Man and His Music" by James Huneker
http://www.gutenberg.org/ebooks/4939

4."Chopin and Other Musical Essays" by Henry Theophilus Finck

http://www.gutenberg.org/ebooks/18560

5."Chopin" by Thomas Tapper
http://www.gutenberg.org/ebooks/35013

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านหนังสือนะคะ ^o^
Happy with books

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

Glenn Gould ตอนที่ 1: First impression


11 มกราคม ค.ศ. 1955 ณ Town Hall มหานคร New York


ค่ำ คืนนี้ คนสำคัญในวงการดนตรีคลาสสิกมากมายต่างมารวมตัวกันตามเสียงเล่าลือ เพื่อชมการแสดงคอนเสิร์ตของ “Glenn Gould” นักเปียโนหนุ่มหน้าใหม่ไร้ชื่อ จากแคนนาดา ซึ่งมาปรากฏตัวพร้อมกับผลงานของ Gibbon, Sweelinck, 3-part invention 5 เพลง และ Partita in G major ของ Bach, Sonata op.109 ของ Beethoven ,Variations Op.27 ของ Webern และ Sonata ของ Berg.


เมื่อ สัปดาห์ก่อน เขาก็ได้เล่นโปรแกรมเดิมนี้ที่ Phillips Gallery ที่ Washington, DC เช่นกัน นั่นเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรกของ Gould ในอเมริกา ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมากจนเป็นที่เลื่องลือ และแน่นอนคืนนี้ก็เช่นกัน Gould ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังเลย



หลัง คอนเสิร์ตจบลง Gould ได้รับเชิญให้ไปงานปาร์ตี้เล็กๆ โดยมี Graffman และนักเปียโนรุ่นใหม่หลายคน มาร่วมแสดงความยินดี ทุกคนต่างตื่นเต้น และประหลาดใจไปพร้อมๆกัน ไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มน้อยอัฉริยะ ที่แสนจะขี้อายคนนี้ ผู้ซึ่งดื่มแต่นมเพียงอย่างเดียว และเอาแต่ขอตัวแอบไปล้างมือในห้องน้ำอยู่เรื่อยๆ คือผู้ประสพความสำเร็จอย่างล้นหลามจากการเปิดตัวของเขาในอเมริกา


ในคืนคอนเสิร์ตที่ New york คุณ David Oppenheim ผู้อำนวยการฝ่ายบันทึกเสียงงานชั้นครู ของบริษัทโคลัมเบีย (The Director of Columbia Records’ Masterworks) ได้เข้าร่วมชมการแสดงในครั้งนี้ด้วย ตามเสียงเล่าลือที่ว่านักเปียโนหนุ่มหน้าใหม่ผู้นี้ อาจจะเป็น Dinu Lipatti ที่ 2 นักเปียโนอัฉริยะผู้ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย

แล้ว Gould ก็ไม่ทำให้เขาผิดหวังเลย หลังจบคอนเสิร์ต Oppenheim จึงรีบติดต่อกับ Gould ในวันรุ่งขึ้น เพื่อเซนต์สัญญารับเขาเข้าเป็นนักเปียโนในสังกัดทันที


และ แล้วบทสนทนาสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของ Gould ไปตลอดกาล ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Oppenheim ถามว่าผลงานชิ้นแรกที่ Gould ต้องการจะบันทึก คืองานอะไร


แล้ว Mr.Oppenheim ก็ได้รับคำตอบที่น่าตกใจเป็นที่สุด…………
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!


“Goldberg Variation ของ Bach”
อันที่จริงแล้วผลงาน Goldberg Variaition นี้ Gould จะเคยออกแสดงครั้งแรกมาก่อน โดยเป็นการแสดงสดถ่ายทอดผ่านวิทยุกับ CBC radio เมื่อเดือนมิถุนายนในปี ค.ศ.1954


แม้ว่าการออกอากาศสดในครั้ง นั้นจะได้รับการกล่าวขานเป็นอันมาก ว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม(ปนเสียงบ่น) และแม้ว่าที่แคนนาดา Glenn Gould จะมีชื่อเสียงโด่งดังมากแค่ไหนก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเหมือนเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างเท่านั้น ที่อเมริกาแห่งนี้ Gould เป็นเพียงนักเปียโนหนุ่มหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วท่านผู้อำนวยการใหญ่แห่งโคลัมเบีย จะกล้าลงทุนกับหนุ่มน้อยอายุ 22 ปีผู้นี้ได้อย่างไร



ที่สำคัญ ในขณะนั้น ผลงาน Goldberg Variation แทบทั้งหมด ถูกบันทึกเสียงและเล่นโดย Harpsichord โดยนักHarpsichord ชื่อดังเช่น Wanda Landowska เพราะในยุคนั้นนักดนตรีรวมทั้งนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่างาน Goldberg Variation นั้น เป็นผลงานที่เหมาะสมหรือแต่งมาเพื่อเล่นบน Harpsichord มากกว่า


ส่วนงานบันทึกด้วยเปียโนในขณะนั้นมีเพียง 2 คน และหนึ่งในนั้นคือ Rosalyn Tureck นักเปียโนและฮาร์ฟซิคอร์ดหญิงชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญในดนตรีของ Bach แถมเธอยังประสพความสำเร็จถล่มทลายกับผลงาน Goldberg Variation จนยากจะมีใครมาเทียบได้ แม้จะบันทึกกับค่ายเล็กๆก็ตาม



ด้วยเหตุนี้ การที่หนุ่มน้อย Gould เลือกอัดผลงานชิ้นนี้เป็นงานแรก จึงนับว่าเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมาก

แต่ ถึงกระนั้น ไม่ว่า Mr.Oppenheim จะพยายามหว่านล้อมทุกวิถีทางเพื่อให้ Gould เปลี่ยนใจหลายต่อหลายครั้ง โดยยื่นข้อเสนอให้ลองเล่นผลงานอื่นๆของ Bach ที่ง่ายกว่านี้เช่น Invention



แต่ไม่ว่าจะเกลี้ยกล่อมเท่าไหร่นักเปียโนหนุ่มหน้าใหม่ของเรา ก็ยังยืนกรานคำเดิมว่าเขาต้องการจะอัดผลงานนี้เป็นงานแรกเท่านั้น และแล้วในที่สุด Oppenheim ก็ตัดสินใจยินยอมให้ Gould บันทึกเสียงงาน Goldberg Variation ตามที่เขาต้องการ

................................

หลายเดือนต่อมา Gould เดินทางไปยังสตูดิโอที่ Manhattan แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะเป็นเดือนมิถุนายน ซึ่งที่ช่วงที่อากาศปลอดโปร่งกำลังสบาย แต่ Gould ยังคงแต่งกายด้วยเสื้อโค้ท สวมหมวก ถุงมือ พร้อมพันผ้าพันคออย่างหนาตลอดเวลาที่มาทำงานครั้งนี้ แม้ว่ามันจะดูแปลกประหลาดมากในสายตาผู้คนที่พบเห็น แต่สำหรับ Gould แล้ว มันคือเรื่องปกติ เพราะ ชุดแบบนี้หล่ะ ที่เขามาใส่มาตลอดทั้งชีวิต


ในการบันทึกเสียงทุกครั้ง Gould จะมาพร้อมกับ “อุปกรณ์” สำคัญประจำตัวเขาเสมอ
แน่นอน...โน๊ตเพลงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ เก้าอี้ตัวจิ๋วของเขา ซึ่ง Gould ยืนยันหนักแน่นว่าจะใช้เก้าอี้ตัวนี้เท่านั้นในการดีดเปียโน เพราะมันสามารถทำให้เขานั่งสูงจากพื้นได้ 14 นิ้วพอดิบพอดี (แม้ว่าความสูงนี้จะต่ำกว่าระดับความสูงมาตรฐานของเก้าอี้เปียโนทั่วไปถึง 6 นิ้วก็ตาม) และที่สำคัญคือเก้าอี้พิเศษตัวนี้ สามารถแกว่งอิสระได้รอบทิศทางตามที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะโยกไปซ้าย-ขวา หรือหน้า-หลัง


นอกจากนี้ยังมีผ้าขนหนูส่วนตัวผืนใหญ่ เอาไว้สำหรับเช็ดมือ เพราะทุกครั้งก่อนที่ Gould จะเริ่มเล่นเปียโน เขาจะต้องแช่มือและแขนลงในอ่างน้ำอุ่นก่อนเป็นเวลา 20 นาที ดังนั้นในระหว่างที่รอ Gould แช่มือนั้น ทีมงานคนอื่นๆก็มักจะมานั่งรายล้อมเขา เพื่อตั้งวงสนทนามารวมกลุ่มเฮฮากันทุกครั้ง


ส่วน ของสำคัญอื่นๆที่พกมาด้วยก็ได้แก่ บรรดายาแก้ปวดหัว ยาคลายเครียด ยาช่วยระบบหมุนเวียนเลือด และที่ขาดไม่ได้ คือน้ำแร่ขวดใหญ่จากโปแลนด์ 2 ขวด ซึ่งเขาดื่มแต่น้ำจากขวดนี้เท่านั้นตลอดการบันทึกเสียง เพราะเขาเชื่อว่ามันคือน้ำเพียงชนิดเดียวที่เหมาะจะใช้ดื่ม และยืนกรานที่จะไม่ยอมดื่มน้ำก๊อกของ New York โดยเด็ดขาด


ตลอด เวลาในการทำงานครั้งนี้ Gould แสดงตัวตนของเขาออกมาอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงว่าตนเองเป็นเพียงนักเปียโนหนุ่มหน้าใหม่ เขารู้ว่าเขาต้องการอะไร และต้องทำอย่างไรถึงจะได้สิ่งนั้นมา และยิ่งประกอบกับการได้ทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานมืออาชีพด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผลงานการบันทึกเสียงในครั้งนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม


เมื่อ Gould นั่งอยู่หน้าคีย์บอร์ด เขาดูคล้ายกับเกิดปรากฏการณ์บางอย่าง บ่อยๆที่เขาหลับตาหรือร้องเพลงตามไปด้วย บางทีก็ยื่นหน้าลงไปฉวัดเฉวียนใกล้ๆคีย์ จนดูเหมือนเขาใช้จมูดดีดเปียโนแทนมือ


นอกจากนี้ภายในห้องจะมีการ ควบคุมคนเข้าออกอย่างเคร่งครัด และมีการจำกัดผู้ชมที่จะเข้ามาดู หรือแม้แต่อุณหภูมิภายในห้องก็ต้องมีวิศวกร คอยดูแลปรับให้อุณหภูมิคงที่ตลอดเวลา เพราะ Gould เป็นคนที่อ่อนไหวมากกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม


แม้ ในระหว่างนั่งฟังพิจารณาผลงานที่บันทึกเสร็จแล้ว Gould ก็ยังคงเป็น Gould คนเดิม เขามักจะ conduct ทำมือทำไม้ตามบทเพลงที่เขาเป็นผู้ดีดด้วยตนเอง พร้อมกับเคี้ยวคุ๊กกี้แสนอร่อย ตามด้วยเครื่องดื่มประจำตัวของเขา นั้นคือ “นมสดพร่องมันเนย” นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว ความท้าทายในการบันทึกเสียงผลงาน Goldberg Variation ของ Gould ไม่ได้มีแค่ต้องเทียบรัศมีกับ Tureck เท่านั้น แต่ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนการพิสูจน์ตัวเองของ Gould ด้วย


ภายหลังจากผลงานชิ้นนี้ออกจำหน่ายแล้ว Gould ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 1959 ว่าเขาชื่นชอบผลงานชิ้นนี้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น Gould กล่าวว่าเขาเริ่มศึกษาผลงานชิ้นนี้มาตั้งแต่ปี 1950 แถมยังบอกอีกว่าผลงาน Goldberg Variation นี้ นอกจากเขาฝึกฝนด้วยตนเองทั้งหมดแล้ว ยังเป็นผลงานแรกที่ศึกษาเอง โดยปราศจากคำแนะนำจากอาจารย์อีกต่างหาก


นอกจากนี้ แม้ว่าที่จริงก่อนที่จะถึงยุคของ Beethoven ผลงาน Goldberg Variation ชิ้นนี้ นับได้ว่าเป็นผลงานคีย์บอร์ดที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา เป็นงานที่รวมเทคนิคหลากหลายเข้ามาด้วยกันและมีความซับซ้อน ทว่าแต่เดิมที่ปฏิบัติกันมา งานชิ้นนี้นิยมบรรเลงด้วย Harosichord เท่านั้น และมักจะถูกมองว่าไม่เหมาะสมและไม่สามารถเล่นบนเปียโนได้ แต่ Gould ก็สามารถก้าวผ่านความคิดนี้มาได้
(แม้จะมีนางฟ้า Tureck เป็นผู้นำทางก็ตาม)



ในสมัย Gould ขณะนั้นผลงานของ Bach ไม่ใช่งานทั่วไปที่จะมีการนำมาเล่นคอนเสิร์ตเป็นจริงเป็นจัง ดังนั้น เมื่อ Gould ตัดสินใจนำ Goldberg Variation ออกแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกสมัยยังอยู่ที่แคนนาดา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1954 จึงเกิดเสียงตอบรับต่างๆนาๆ


คืนนั้นเป็นคืนก่อนที่จะเกิดพายุเฮอร์ริเคน Hazel ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในพายุครั้งที่เลวร้ายที่สุดของเมือง Toronto ผลจากพายุ ทำให้เกิดน้ำท่วมสูง และทำลายบ้านเรือนไปหลายหลัง ดังนั้น ในคืนดังกล่าวจึงทำให้มีผู้มาชมคอนเสิร์ตน้อยมาก และมีแต่เพียงบรรดานักวิจารณ์เท่านั่นที่เข้ามาชม


หลังจากคอนเสิร์ตเสร็จสิ้น เหล่านักวิจารณ์ต่างรู้สึกสับสนกับความคิดของตัวเอง แม้เขาจะรู้สึกพิศวงและตื่นเต้นไปกับ Bach ที่แปลกใหม่ของ Gould แต่ก็ยังยึดมั่นว่าเพลงดังกล่าวไม่สมควรนำมาเล่นในงานคอนเสิร์ต และเป็นงานสำหรับการเรียนการสอนดนตรีในโรงเรียนเท่านั้น


แต่แล้วสุดท้าย หลายเดือนต่อมา นิตยสาร Musical Courier ก็ยกย่องผลงานของ Gould ในคืนคอนเสิร์ตดังกล่าวว่ายอดเยี่ยมเทียบเท่ากับ Landowska และ Serkin นัก Harpsichord ชื่อดังแห่งยุค











ภาพถ่ายขณะกำลังบันทึกเสียงGoldberg variation ในห้องอัดเมื่อปี 1955 ขณะนั้น Gould มีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น กำลังหล่อเพี๊ยวเลย




หลังจากการบันทึกเสียงผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อ Gould รู้สึกพอใจในผลงานของตนเองแล้ว เขาก็เก็บข้าวของทุกอย่างที่นำมา และบอกลาทุกคนโดยไม่มีการจับมือกับใคร แต่ทีมงานทุกคนต่างเข้าใจดี และร่ำลาเขาด้วยรอยยิ้ม ทุกคนคิดถึงช่วงเวลาดีๆ ที่ใครๆเรียกกันว่า “ Soaking time”
(ช่วงเวลาแห่งการเม้าท์รอบอ่างแช่มือ)


ก่อนจะจากลา Gould ได้ฝากคำพูดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า


“แล้วพบกันใหม่เดือนมกราคม”


ซึ่งทุกคนต่างก็รู้ดีว่าจะได้พบกับเขาอีกครั้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะวิศวกรช่างแอร์ ที่ต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนวันนั้นจะมาถึง




25 มิถุนายน ค.ศ. 1955 คือวันที่ผลงานชิ้นนี้ออกวางจำหน่าย และนับจากจากวันนั้น Tureck จึงกลายเป็นเพียงอดีต แต่ปัจจุบันและอนาคตคือเส้นทางของ Gould

หลังจากวางแผงได้ไม่นาน อัลบัมนี้ก็กลายเป็นผลงานที่ขายดีที่สุดของค่ายโคลัมเบีย และยังขึ้นแท่นอัลบัมเพลงคลาสสิกขายดีอันดับ 1 ของอเมริกาอีกด้วย


ผลงาน Goldberg Variation ในครั้งนี้ ได้เปิดประตูให้ Gould ก้าวเข้าสู่เวทีนักเปียโนอาชีพระดับโลกอย่างสวยงาม ชื่อของ Glenn Gould ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในบรรดาของนักเปียโนดาวรุ่งแห่งยุค ที่ไม่มีนักเปียโนคนใดในรุ่นเดียวกันสามารถมาเทียบรัศมีได้ และได้รับฉายาจากนักวิจารณ์ทั้งหลายว่า “Wunderkind”


นิตยสารทางดนตรีทุกฉบับในขณะนั้น ต่างกล่าวขานถึงอัลบัมนี้ด้วยความชื่นชมเป็นอย่างมากมาก ผลงานGoldberg Variation ในปี 1955 ครั้งนี้ ได้รับการยกย่องว่า ใสสะอาด สว่างสดใส มีชีวิตชีวา แต่ก็ละเอียดอ่อน มีเทคนิคที่ยอดเยี่ยม แปลกใหม่และโดดเด่น


Gould ได้เปิดมิติใหม่ในการบรรเลงเพลงของ Bach ด้วยเปียโน แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงสัมผัสได้ถึงความเป็น Bach อยู่



และผลจากการที่ประสพความสำเร็จกับอัลบัมเปิดตัวอย่างท่วมท้น Gould ก็ได้เปิดคอนเสิร์ต และออกงานบันทึกเสียงมากมาย แต่ Gould ก็ยังคงชื่นชอบการท้าทายตลอดเวลาไม่เคยเปลี่ยนแปลง งานที่เขาเลือกบันทึกในช่วงแรกๆ ส่วนมากเป็นงานที่นักเปียโนส่วนใหญ่เลือกมาบันทึกกันในตอนที่อายุมากๆและสั่งสมประสบการณ์ทางดนตรีมากพอแล้ว












สุดยอดอัลบัมขายดีตลอดกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ Gould เสียชีวิตไปแล้ว




26 ปีต่อมาจากการบันทึกเสียงครั้งแรก และราว 1 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต Gould ตัดสินใจนำงาน Goldberg Variation ชิ้นนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง แล้วบทเพลงเดิม ที่สตูดิโอแห่งเดิม ผู้เล่นคนเดิม กับการตีความครั้งใหม่ ก็เริ่มต้นขึ้น


Gould ในวันนี้แตกต่างจากหนุ่มน้อย Gould ในวันนั้น บัดนี้เขาได้เติบโตและสั่งสมประสบการณ์ทางดนตรีมาอย่างเต็มเปี่ยม Gould ในปี 1981 ได้เปลี่ยนไปแล้ว และเขาต้องการแสดงตัวตนของเขาให้โลกได้เห็นอีกครั้ง



นอกจากนี้ เรื่องของความคิดของ Gould ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจบันทึกเสียงผลงานนี้ใหม่อีกครั้ง นั่นคือ เทคโนโลยีในการบันทึกเสียงแบบใหม่ๆที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เขาตื่นเต้นและหลงใหลมันอยู่เรื่อยๆ


ระบบการบันทึกเสียงในปี 1955 นั้น มีเพียงระบบ mono เท่านั้น แต่ในปี 1981 นั้น มีทั้งระบบ stereo, digital และ dolby เพิ่มขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ Gouldได้ทำการทดลองบันทึกเสียงแบบต่างๆอย่างสนุกสนาน เพื่อหาแบบที่เขาชอบมากที่สุด จริงอยู่ว่าในขณะนั้น ระบบบันทึกเสียงแบบ digital ดูเหมือนจะเป็นระบบใหม่ล่าสุดพึ่งเกิดขึ้น แต่ระบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง และนักฟังหลายๆท่านก็มองว่า ความคมชัด ไร้เสียงรบกวนของระบบนี้ ทำให้ขาดรสชาติทางดนตรีหลายอย่างไป ซึ่ง Gould ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่คิดเช่นนี้ ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้ระบบเทป Analog ในการบันทึกเสียงครั้งใหม่



นอกจากนี้แล้ว เปียโนที่ใช้ในการบันทึกเสียงในครั้งนี้ก็มีความพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ นั่นเพราะมันคือ แกรนด์เปียโน ขนาด 9 ฟุต ยี่ห้อ Yamaha แทนที่จะเป็น Steinway and Son รุ่น CD 318 เหมือนเช่นเคย


ในตอนนั้น Steinway สุดที่รักของGould ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้อีกต่อไปแล้ว
ดังนั้นเมื่อ Gould วางแผนจะบันทึกงาน Goldberg Variation เขาจึงจำต้องหาเปียโนที่เหมาะสมให้ได้เสียก่อนเป็นอันดับแรก

Gould ออกตระเวนตามหาคู่ของเขาทุกหนทุกแห่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นโชว์รูมใดๆ หรือแม้แต่ที่โกดังใต้ดินของ Steinway ที่สุดยอดนักเปียโนแทบทุกคนในโลกต้องไปเยือนเพื่อเลือกหาคู่ของตน Gould ก็ยังคงไม่พบเปียโนที่เขาต้องการ


“ Gould’s technical requirements” คือ นิยามที่บรรดาผู้ที่ช่วยในการตามหาเปียโนของ Gould ใช้ในการตามหาเปียโนที่จะสามารถตอบสนองในการดีดแบบพิเศษของเขาได้



เมื่อ Franz Mohr ช่างเปียโนมือฉมังของ Steinway ได้ยินข่าวนี้ เขาก็รู้ได้ในทันทีว่าขณะนั้นมีเปียโนอยู่ 1 ตัวที่เหมาะสมกับ Gould นั่นคือ Steinway and Son รุ่น CD186

แม้ว่าเปียโนตัวนี้จะถูกเก็บไว้อยู่ที่มุมหนึ่งของชั้นใต้ดินของโกดัง Steinway แต่ใครๆก็รู้เปียโนตัวนั้นเป็นเปียโนที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ ส่วนตัวเขาเอง ก็เคยมีโอกาสได้ลองดีดเปียโนตัวนั้น และหลงรักมันอย่างจัง เขารู้ว่าเปียโนตัวนี้มีน้ำหนักคีย์พิเศษ ซึ่งเป็นแบบที่ Gould ชื่นชอบ แต่ติดปัญหาเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ เปียโนตัวนี้เป็นของ Horowitz
(แว๊กๆๆๆๆ แล้วใครจะกล้าไปขอยืมหล่ะ ดังนั้นลืมเจ้าตัวนี้ไปได้เลย)



มาฟังเพลงกันดีกว่าค่ะ คลิปนี้ท่อนแรกของ Godberg Variation บท Aria คนทำคลิปเขานำเอาผลงานปี 1955 กับ 1981 มาต่อกันเลย ให้ฟังเปรียบเทียบกันจะๆ




หลังจากผ่านไป 2-3 สัปดาห์ Gould ก็ได้รับโทรศัพท์จาก Robert Silverman เพื่อนนักเปียโนผู้กว้างขวาง เขาแจ้งกับ Gould ว่ามีเปียโน 2 ตัวต้องการจะให้ไปลอง


เปียโนทั้ง 2 ตัวอยู่ที่ บ.Ostrovsky Piano and Organ ซึ่งเป็น dealer ของ Yamaha ที่ New York ซึ่งก่อนหน้านี้ Silverman ได้โทรศัพท์ติดต่อกับพนักงานขายล่วงหน้าไว้แล้ว


“ไม่ทราบว่าที่นั่นมีแกรนด์ขนาด 9 ฟุตบ้างหรือไม่” Silverman ถาม


“ อ๋อ...มีอยู่ 2 ตัวครับ ไม่ทราบว่าใครคือผู้ต้องการจะซื้อครับ” Raphael Mostel นักดนตรีและพนักงานขายเพียงคนเดียวที่อยู่ในร้านขณะนั้น ถามกลับมั่ง แล้วเขาก็ได้รับคำตอบเป็นคำอธิบายที่ฟังดูน่าหนักใจ



คนที่สนใจจะมาชม เป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง และใช้เปียโนของสังกัด Steinway มายาวนานถึง 25 ปี ดังนั้น หากทาง Steinway ได้ล่วงรู้ว่านักเปียโนผู้นี้เปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่น หรือแม้เพียงแค่คิดหล่ะก็ คงจะต้องเกิดเรื่องยุ่งยากตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น ในการขอเข้าชมครั้งนี้ จะต้องปิดเป็นความลับ และจะต้องไม่มีผู้ใดพบเห็นการมาของเขา


และเมื่อ Mostel ได้ทราบว่า Gould คือนักเปียโนผู้นั้น เขาตกใจเป็นอันมาก เขาก็เหมือนคนในแวดวงดนตรีคนอื่นๆ เขารู้จักชื่อเสียงของ Glenn Gould ดี และมีโอกาสเพียงได้ฟังงานบันทึกเสียงและชื่นชมจากในโทรทัศน์เท่านั้น Mostel เข้าใจถึงความจำเป็นในการร้องขอดังกล่าว และยินดีจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


Gould รีบเดินทางไป New York พร้อมกับ Silverman ทันที แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงแวะลงไปลองเปียโนที่ชั้นใต้ดินของ Steinway ก่อน แต่กลับไม่ถูกใจตัวไหนเลย


หลังจากนั้น Gould และ Silverman จึงเดินทางไปที่โชว์รูมของ Ostrovsky ตามที่ได้นัดหมายไว้ แต่เนื่องจากร้านนี้อยู่ที่อยู่ในจุดที่มีคนพลุกพล่าน และห่างจาก Carnegie Hall ไปเพียงไม่กี่ 100 ก้าวเท่านั้น ดังนั้นเวลาที่นัดหมาย จึงเป็นตอนเย็นหลัง 6 โมง ซึ่งเป็นเวลาที่ร้านปิดแล้ว



เนื่องจากร้านตั้งอยู่ริมถนน และไม่มีผ้าม่าน แถมหนึ่งในเปียโนที่จะชม ก็ดันตั้งอยู่ตรงมุมซึ่งมีกระจกล้อมรอบ 3 ด้าน ด้านติดริมถนนอีกต่างหาก ดังนั้น เพื่อที่จะสนองต่อคำร้องขอจากนักเปียโนผู้มีความลับคนดังกล่าว ห้องแถวเพดานสูง ขนาด 3 บล๊อก ซึ่งสร้างด้วยกำแพงกระจกจากพื้นจรดเพดาน จึงถูกปกคลุมด้วยแผ่นกระดาษปะเทปตลอดแนวทั้งหมด และมีเพียง Mostel พนักงานขายผู้เป็นคนรับเรื่อง , Mrs. Ostrovsky เจ้าของโชว์รูม และ เลขาของเธอเท่านั้นที่ได้ร่วมชม



Var. 1 เปรียบเทียบอีกแล้ว Var นี้ 2 เวอร์ชั่นต่างกันชัดเชียว แต่ข้าพเจ้าชอบปี 1981 มากกว่านะคะ ฟังดูชัดเจนมีเนื้อหาดี



เมื่อ Gould มาถึง Mostel ก็พาเขาไปชมเปียโนตัวแรก ซึ่งเป็นแกรนด์ตัวใหม่ที่พึ่งส่งมาจากโรงงาน ซึ่ง Gould เพียงแค่แตะโน๊ต 2-3 ตัวก็เดินจากไป


เปียโนตัวที่ 2 เป็นเปียโนเก่าอายุ 5 ปี ซึ่งพัง และถูกส่งมาซ่อมโดย Mitsuo Azuma ช่างเปียโนมือหนึ่งของร้าน Ostrovsky Mitsuo ใช้เวลากว่า100 ชม.ในการซ่อมเปียโนตัวนี้ จนกระทั่งมันได้รับฉายาว่า “Mitsuo’s Baby”


ที่ “ Mitsuo’s Baby” นี่เอง ที่หลังจาก Gould แตะโน๊ตเพียง 2-3 ตัว ก็เปลี่ยนเป็นนั่งลงบนเก้าอี้ และเริ่มบรรเลงเพลงของเขา

ในตอนแรก Gould เริ่มต้นโดยการลองเล่นตำแหน่งคีย์ต่างๆบนเปียโน จากนั้นก็ตามด้วย Bach


“นี่เป็นเปียโนที่ควบคุมได้ดีที่สุด ตั้งแต่ฉันเคยดีดเปียโนมา!” Gould หันไปบอก Mrs. Ostrovsky



และหลังจากนั้นไม่กี่นาที Silverman เพื่อนของ Gould ผู้ซึ่งแอบเดินหายไปจากห้องเมื่อไหร่ไม่รู้ ก็มาปรากฏตัวพร้อมกับเก้าอี้สุดที่รักของ Gould เพื่อนสนิทของเขารู้ใจของ Gould ดีกว่า ตอนนี้เขากำลังต้องการอะไร


แต่นอกจากเปียโนที่ Gould ต้องการแล้ว เขายังสนใจช่างเปียโนที่ทำงานกับเปียโนตัวนี้ แถมยังต้องการตัวช่างเปียโนคนนั้นติดตามไปด้วย แต่ Mrs. Ostrovsky ไม่ได้เตรียมใจในเรื่องนี้มาก่อน และไม่คิดว่าจะต้องสูญเสียบุคลากรฝีมือดีของบริษัทไป เธอจึงปฏิเสธคำขอของ Gould แต่ก็สัญญาว่าจะหาช่างฝีมือดีคนอื่นส่งไปแทน


แล้วในที่สุด Gould ก็ตัดสินใจซื้อเปียโนตัวนั้น......




ข่าวเรื่องการซื้อเปียโน Yamaha ของ Gould แพร่กระจายออกไป เมื่อมีการขนย้ายเปียโนตัวนี้ไปยังสตูดิโอของ CBS และหลังจากนั้นไม่นาน Gould ก็ได้รับโทรศัพท์จาก Steinway ถามถึงเรื่องเปียโนตัวใหม่ของเขา


Gould ยอมรับทุกเรื่องรวมทั้งเรื่องที่เขาวางแผนจะบันทึกเสียงเพลง Goldberg Variation กับ เปียโนตัวนี้ด้วย แต่เขายังยืนยันว่าตนเองยังเป็นศิลปินในสังกัดของ Steinway อยู่ และเล่าเรื่องถึงเหตุการณ์ที่เขาไปที่โกดังชั้นใต้ดินของ Steinway เพื่อตามหาเปียโนที่ต้องการ แต่แล้วเขาก็ไม่พบเปียโนตัวใดที่ถูกใจ


นอกจากนี้ Gould ยังบอกอีกว่าเปียโน Yamaha ตัวนี้ มีความคลายคลึงกับ CD318 ของเขามาก เพียงแต่ใหม่กว่าและอยู่ในสภาพที่ดีกว่า และกล่าวว่า เขาจะใช้เปียโนตัวนี้เป็นการชั่วคราว จนกว่าเขาจะสามารถตามหา Steinway ตัวอื่นที่เหมาะสมกับเขาได้
(ซึ่งดูเหมือนว่าวันนั้นจะไม่เคยมาถึง)



ตามมาติดๆด้วย Var.2 ท่อนนี้ชั่งสั้นยิ่งนัก เวลาฟังยาวๆเหมือนท่อนนี้เป็นแค่ท่อนเชื่อมอะไรซักอย่างที่ผ่านมาแล้วก้ผ่านไปเลย




เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1981 เมื่อถึงเวลาต้องทำงานจริงๆ Mrs.Ostrovsky ก็ส่งช่างเปียโนมาหาเขา แต่เขาผู้นั้นไม่ใช่ Mitsuo Azuma แต่เป็น Daniel Mansolino ช่างเปียโน ฝีมือดี ผู้ซึ่งรับงานอิสระจาก บ.ของ Ostrovsky มานานหลายปี


ดังนั้น นอกจาการบันทึกเสียงในครั้งนี้ จะมีการใช้เปียโนตัวใหม่แล้ว ช่างจูนเปียโนก็ยังเป็นคนใหม่อีกด้วย


เป็นเรื่องน่ายินดีที่ Gould ชอบ Mansolino มากๆ เขาชอบผลงานการจูนเปียโนของ Mansolino แล้วไหนเลยจะเรื่องความอดทนที่ Mansolino มีให้เขาอีก


Gould เองเป็นศิลปินที่มีความละเอียด และมีประสาทสัมผัสหูที่ดีมาก จึงมีบ่อยๆที่เขาได้ยินเสียงที่เพี๊ยนไปก่อน Mansolino และร้องขอให้ Mansolino ช่วยปรับแต่งให้เสมอด้วยถ้อยคำที่นอบน้อม ดังนั้นบ่อยครั้งที่พวกเขาทำงานด้วยกันแล้วดูเหมือนว่า Gould จะเป็นคนเอาใจ Mansolino มากกว่า Mansolino ที่ควรจะเอาใจ Gouldเหมือนลูกจ้างที่ทำงานให้เจ้านายเสียอีก


หลังจากการบันทึกเสียงผ่านไปไม่นาน ความชื่นชอบเปียโน Yamaha ตัวนี้ ก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และเปลี่ยนเป็นเสียงบ่นแทน

ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นในระหว่างบันทึกเสียง Variation ที่ 5 และ 14 ซึ่งเป็นท่อนที่มีความซับซ้อน และมีจังหวะเร็วมาก


“เจ้า Yamaha ตัวเดิมนั้นหายไปไหน”


“เจ้าตัวนี้มีปัญหากับการ Trill มันทำได้ไม่ดีโดยเฉพาะตรงกลางเปียโน”


“ผมอยากได้ปืนกลลลลลลลล”




ปืนกล เป็นคำพูดที่ Gould ชอบใช้ กับนิ้วมหัศจรรย์ของเขา และเขาต้องการเปียโนที่ตอบสนองความเร็วนั้นได้ด้วย


อีกซักนิดกับเรื่องของเปียโน
จริงๆแล้วการที่ Gould ได้พบกับ Yamaha ตัวนี้หน่ะ ต้องขอบคุณ คุณMostel พนักงานขายคนนั้นนะคะ

แต่เดิมร้าน Ostrovsky เนี่ย มีคุณ Boris Ostrovsky ซึ่งเป็นช่างเปียโนเป็นเจ้าของ แต่หลังจากเขาเสียชีวิตลง ภรรยาของเขาก็ดูแลกิจการแทน ซึ่งก็คือ Mrs.Ostrovsky ในเรื่องที่ว่าเนี่ยหล่ะค่ะ เธอไม่ได้เป็นนักเปียโนและไม่สนใจเรื่องดนตรี เธอเป็นแค่นักธุรกิจธรรมดาที่ทำกิจการขายเปียโนเท่าัน้น ดังนั้นในตอนแรกเนี่ยเธอก็ไม่เห็นด้วยหรอก ที่จะต้องลงทุนเปิดร้านเกินเวลา แถมต้องมีพิธีกรรมหลบๆซ่อนๆอีกมากมาย แต่ก็ด้วยความตั้งใจของคุณ Mostel พนักงานขายคนนี้หล่ะ ที่หว่านล้อมจนเธอเห็นด้วย


และแม้แต่กระดาษปิดเทปที่เอามาปิดกระจก พนักงานคนนี้ก็เป็นคนนำกระดาษเองมาจากบ้าน และลงมือทำด้วยตนเองเพื่อ Gould เลยนะคะ ลงทุนมากๆ แต่เขาก็ได้รับรางวัลพิเศษจาก Gould เช่นกัน

เพราะหลังจากที่ สาวๆทั้ง 2 คน คือ Mrs.Ostrovsky กับ เลขาของเธอออกจากห้องไป เหลือแค่ Gould และ Mostel อยู่ในห้องกัน 2 คน Gould ก็เริ่มบรรเลงเพลงของเขาอีกครั้ง Mostel ก็เลยได้รับ Private concert จากสุดยอดนักเปียโนเป็นของขวัญในความอุตสาหะของเขา ซึ่งตัว Mostel เองก็ตื่นเต้นมากกับประสบการณ์ครั้งนี้


ในตอนนั้น Gould ร้างลาจากเวทีมานานมากแล้ว แต่ถึงกระนั้นเมื่อเขาอยู่ตรงหน้าเปียโนและบรรเลงเพลง ก็เหมือนกับว่าเขาลืมทุกสิ่ง Mostel เล่าว่า Gould ยื่นจมูกลงไปใกล้ๆกับคีย์ และในขณะที่กำลังดีด หากมีมือใดมือหนึ่งหยุดดีด ก็จะหันไปกำกับอีกมือหนึ่ง นอกจากนี้ Gould ยังดูเหมือนกำลังทะเลาะกับตัวเองไปด้วย และในบางทีก็ดูเหมือนว่าเขากำลังดีดเปียโนพร้อมๆกับคนอื่นๆที่ไม่มีตัวตนอีกมากมาย
(เหมือนผีหลอกเลยแฮะ)


Var 4 อันกระฉับกระเฉง


และ Var. 5 เจ้าปัญหา ที่ทำให้ Gould เริ่มงอนเปียโนของเขา




“คิดซะว่ามันคือ Harpsichord สิ ผมต้องการให้มันเป็น Harpsichord”


Gould บอกความต้องการของเขากับ Mansolino หลังจากที่พยายามสื่อสารกับ Mansolino หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ดั่งใจเสียที


ความจู้จี้ของ Gould นั้น เป็นผลมาจากประสาทสัมผัสของ “นิ้ว” และ“หู” ของเขาที่ดีเกินไปนั่นเอง

“นิ้ว” ที่เมื่อสัมผัสคีย์ แล้วสามารถรู้สึกถึงความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของน้ำหนัก “หู” ที่สามารถแยกแยะเสียงได้ดีเยี่ยม ที่มักจะจับเสียงที่เพี๊ยนไปเพียงเล็กน้อย หรือ tone เสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งแม้แต่วิศวกรผู้ชำนาญของ CBS เอง ก็เคยประหลาดใจกับหูคู่นี้ของ Gould มาแล้ว เพราะ Gould สามารถแยกแยะได้ว่า ใช้ระบบของ Sony หรือ Mitsubishi ในการบันทึกเสียง


ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นงานหนักของ Mansolino ผู้ใจเย็น แม้ว่าเขาจะมีความอดทนและสามารถจับจุดความต้องการของ Gould ได้ แต่ถึงกระนั้น Mansolino เอง ก็ยังถึงกับบ่นอุบว่า ความเร็วของนิ้ว Gould มันเร็วเกินกว่าเปียโนสมัยใหม่จะตอบสนองได้ทัน แต่ก็ยังอดทนพยายามทำตามที่ Gould ต้องการ ในขณะที่หากเป็นช่างเปียโนคนอื่นๆ คงจะสั่นหัวแล้วเผ่นแนบไปแล้ว และด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ Mansolino เป็นเพียงคนเดียวที่ Gould ยอมให้เขาจับมือ กิน หรือ สูบบุหรี่ ต่อหน้าเขาได้



และด้วยความที่ Gould มีปัญหากับเจ้า Yamaha ตัวนี้เหลือเกิน จึงทำให้ Lorne Tulk ซึ่งเป็น sound engineer ที่ทำงานกับ Gould มานาน คิดว่าอาการของจู้จี้ของ Gould นี้ อาจเกิดมาจากความรู้สึกผิด ที่ไม่ได้ใช้เปียโน Steinway เพราะตลอดเวลาที่ Gould ทำงานกันเปียโน Yamaha ตัวนี้ เขาจะเรียกมันว่า “เจ้าสิ่งนี้” ไม่ได้เรียกด้วยความรักเหมือนกัน Steinway ตัวเดิมของเขา ซึ่งก็ดูเหมือนว่า Gould จะคิดถึงเปียโนตัวเก่าของเขามากจริงๆ


“ฉันทำอย่างนี้กับเจ้าเปียโนตัวนี้ไม่ได้”


“ฉันต้องการความเร็วแบบปืนกล เหมือนที่เคยเล่นที่บ้าน แต่ฉันทำที่นี่ไม่ได้”


“เอาหล่ะ....ฮึ....เราต้องพยายามอีกครั้ง”


เหล่านี้คือเสียงบ่นพึมพัมของ Gould บ่อยๆ ในขณะที่กำลังทำงานกับเจ้า Yamaha ตัวนี้ ดูเหมือนว่า Gould เองก็กำลังฝึกความอดทนกับตัวเองไม่แพ้ Mansolino เช่นกัน



แต่ทว่าเมื่อการบันทึกเสียงดำเนินไปถึง Variation ที่ 30 Gould ก็กลับมาหลงรักเจ้า Yamaha ตัวนี้อีกครั้ง


“เจ้านี่ทำไม่ได้ดีเหมือนที่เคยทำได้ มันไม่ได้มีน้ำหนักที่นุ่มนวลเหมือนก่อน แต่มันเจ๋งยิ่งกว่านั้น”



(สงสัย เฮีย Gould แกจะปลงแล้วหล่ะมั้ง )



ว่าแล้วเราก็ข้ามมาปี 1981 ที่ var 8 -14 เลยแล้วกันค่ะ





ผลงานในครั้งนี้ นอกจากจะบันทึกเสียงธรรมดาทั่วไปแล้ว ยังมีการถ่ายทำการบันทึกภาพของเขาระหว่างอยู่ในห้องอัดออกมาด้วย โดย Gould ได้ร่วมทำงานกับผู้กำกับชาวฝรั่งเศสคู่ใจที่ชื่อว่า Bruno Monsaingeon ซึ่งเคยทำงานร่วมกับ Gould มาก่อนแล้วหลายครั้ง


แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ การถ่ายทำ Goldberg Variation ชุดนี้พิเศษกว่างานครั้งอื่นๆ คือ Gould ลงมือตัดต่อภาพผลงานครั้งนี้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาต้องการให้ผู้ชมได้รับสิ่งที่เขาต้องการจะบอกได้ถูกต้องที่สุด และนั่นทำให้ผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาทำงานกินเวลายาวนานถึง 1 ปี ในการแก้ไขกว่าจะเสร็จสมบูรณ์


หลังจากการบันทึกเสียงเสร็จสิ้น Gould ได้ให้สัมภาษณ์กับ Tim Page เพื่อนเก่าแก่ของเขา ในปี ค.ศ. 1982 เกี่ยวกับงานในครั้งนี้

Gould เล่าว่า เขาวางแผนไว้นานแล้วว่าจะทำงานนี้ใหม่อีกครั้ง ตอนอายุซัก 50 ปี แล้วก็ได้ทำจริงๆ เขาต้องการจะแก้ไขอะไรหลายๆอย่างที่เขาทำไว้เมื่อ 25 ปีก่อนนี้ ผลงานในครั้งนั้น มันสดใส เบิกบานก็จริง แต่ก็ “ too romantic” และ “too pianistic” จนเกินไป


ผลงานในปี 1955 มีความสะอาด สว่าง และสดใส เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ความแปลกใหม่ ก็จริง แต่ Gould ได้สร้างความแตกต่างขึ้นในปี 1981

ผลงานในครั้งใหม่นี้ มีเนื้อหา ครุ่นคิด และมีความเข้มข้นมากกว่าการดีดเพื่อ show-off เหมือนที่นักเปียโนหนุ่มเคยทำมา และยังคงได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีเหมือนครั้งแรก แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ Gould ได้มีโอกาสชื่นชมผลงานนี้ของเขาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาก็ต้องจากโลกนี้ไปเสียก่อน


หลังจากเขาเสียชีวิตลง ผลงาน Goldberg Variation ครั้งใหม่นี้ขายได้มากถึง 2 ล้านแผ่น และต่อมาในปี ค.ศ.2002 sony ก็ได้ออก CD special edition ออกมา รวมเป็นผลงาน pack คู่ ของงานปี 1955 และ 1981 ในชื่อ Glenn Gould : a state of wonder และอัลบัมชุดนี้ก็กลายเป็นอัลบัมยอดฮิตขายดีในปีนั้น และกลายเป็นอัลบัมยอดฮิตตลอดกาล สำหรับผู้ที่ชื่นชอบ Gould และนักฟังเพลงคลาสสิกทั่วไป ที่ผู้ชื่นชอบงาน Goldberg Variation ต้องหามาฟังกัน


ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ผลงาน Goldberg Variation ชุดนี้ จึงมิได้เป็นเพียงผลงานแรกที่เปิดตัวของ Gould เข้าสู่เส้นทางนักเปียโนอาชีพเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกัน บทเพลงชุดนี้ ก็เป็นผลงานสุดท้ายที่เขาฝากให้โลกนี้จดจำชื่อของ Glenn Gould ด้วยเช่นกัน

------------------------------จบตอนที่ 1 -----------------------------------